8 ข้อรู้ไว้! ก่อนบินไปเรียนอังกฤษ
1. อากาศอังกฤษแปรปรวนมากจริงมั้ย?
อย่างที่น้อง ๆ ทราบกันดีว่าประเทศอังกฤษมีสภาพอากาศที่แปรปรวนมาก และไม่สามารถคาดเดาได้ เป็นเพราะอังกฤษตั้งอยู่ทางใต้จุดที่บริเวณอากาศร้อนและอากาศหนาวและรวมถึงมวลอากาศจากขั้วโลกและเขตร้อนมาบรรจบกัน หรือในแบบที่เข้าใจง่าย คือ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของอังกฤษที่ทำให้มีการส่งผลต่อลมและการไหลเวียนของระบบสภาพอากาศ ทำให้เกิดสภาพอากาศที่หลากหลาย มาดูกันว่า อังกฤษมีกี่ฤดูกาลและแต่ละฤดูกาลเป็นยังไงบ้าง เพื่อที่น้อง ๆ จะได้เตรียมรับมือทัน !
อังกฤษมีทั้งหมด 4 ฤดู ได้แก่
1) ฤดูใบไม้ผลิ (Spring)
ระยะเวลา: มีนาคม - พฤษภาคม
อุณหภูมิเฉลี่ย: 9 - 14 °C
สภาพอากาศ: เป็นฤดูที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยที่สุด หากน้อง ๆ อยู่อังกฤษในช่วงนี้จะได้พบกับอากาศอบอุ่น แดดจัด หนาวเย็นและฝนตก ภายในวันเดียว
2) ฤดูร้อน (Summer)
ระยะเวลา: มิถุนายน - สิงหาคม
อุณหภูมิเฉลี่ย: 16 - 19 °C
สภาพอากาศ: อังกฤษในช่วงนี้จะมีอากาศอบอุ่นและมีแดดตลอดทั้งวัน อีกทั้งยังเป็นช่วงที่มีกลางวันยาวนานอีกด้วย แต่หากเทียบกับอากาศร้อนของประเทศไทยแล้ว อากาศร้อนของที่นี่ยังนับว่าเป็นอากาศหนาวของบ้านเราเลยนะ
3) ฤดูใบไม้ร่วง (Autumn)
ระยะเวลา: กันยายน - พฤศจิกายน
อุณหภูมิเฉลี่ย: 10 - 17 °C
สภาพอากาศ: ช่วงนี้ใครสายถ่ายรูปต้องชอบ เพราะฤดูนี้ ใบไม้อยู่ในช่วงเปลี่ยนสีและร่วงหล่นชวนให้น่าเที่ยวสุด ๆ
4) ฤดูหนาว (Winter)
ระยะเวลา: ธันวาคม - กุมภาพันธ์
อุณหภูมิเฉลี่ย: 7 °C
สภาพอากาศ: แน่นอนว่าฤดูหนาวก็ต้องแตกต่างจากหน้าร้อนแบบสุดขั้วเพราะในฤดูหนาวนอกจากจะมีหิมะตกแล้ว ยังเป็นช่วงที่กลางคืนยาวนานกว่าปกติและมืดเร็วคล้ายกับหน้าหนาวในบ้านเรา ในฤดูนี้เหมาะกับการมาเที่ยวและชมหิมะตก แต่หิมะตกเป็นบางพื้นที่เท่านั้นน้า
เราจะเห็นได้ว่า อังกฤษมีหลายฤดูกาลกันเลยทีเดียว และในบางฤดูกาลก็มีอากาศแปรปรวนด้วย ดังนั้นการติดตามข้อมูลสภาพอากาศอยู่สม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งแรกที่น้อง ๆ ควรจะทำก่อนไปเรียนอังกฤษ ไปต่อกันที่ข้อต่อไปกัน
2. มีส่วนลดการเดินทางสูงถึง 33% จริงมั้ย?
การเดินทางในประเทศอังกฤษมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับว่ามหาวิทยาลัยที่น้อง ๆ เลือกตั้งอยู่ที่เมืองอะไรและน้อง ๆ พักอยู่ที่ไหน เป็นสถานที่ที่ใกล้ระบบขนส่งหรือไม่ แต่ในภาพรวมการเดินทางในอังกฤษค่อนข้างสะดวกเพราะที่นี่มีระบบขนส่งครอบคลุมในทุก ๆ เมือง ไม่ว่าจะเป็น รถไฟ รถบัส เรือข้ามฟาก รถราง หรือแม้แต่รถแท็กซี่ สำหรับน้อง ๆ ที่เรียนในอังกฤษจะได้ส่วนลดค่าเดินทางด้วยนะ ไปดูกันว่าการเดินทางในอังกฤษสำหรับน้องนักเรียนมีแบบไหนบ้างที่คุ้ม
- รถบัสและรถราง (ฺBuses and Trams)
รถบัสและรถรางเป็นการเดินทางรูปแบบหนึ่งในแบบประหยัดทั้งเวลาและค่าโดยสาร และยังผ่านสถานที่สำคัญ ๆ ตลอดทั้งตัวเมือง การซื้อตั๋วสามารถซื้อได้ที่เครื่องจำหน่ายบัตรหรือซื้อบัตรผ่านเครื่องจำหน่ายบัตรที่จุดรอรถโดยสาร บางสายมีให้บริการ 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว เหมาะกับน้อง ๆ ที่อยู่อ่านหนังสือที่ห้องสมุดหรือสายปาร์ตี้ สำหรับรถบัสและรถรางสามารถใช้ Oyster card เพื่อความสะดวกและเป็นการประหยัดไปในตัวอีกด้วยนะ แต่บัตรนี้สามารถใช้ในลอนดอนเท่านั้น และสามารถใช้ลดค่าเดินทางกว่า 40% นอกจากนี้สำหรับสายเดินทางไกลนักเรียนที่นี่จะเลือกใช้รถโค้ช (Coach) เพราะรถโค้ชที่อังกฤษประหยัด ปลอดภัยและสะดวกสบาย หากเดินทางด้วยรถโค้ชบ่อย ๆ ก็สามารถซื้อบัตรโดยสารรถโค้ช (Coach card) จาก National Express เพื่อรับส่วนลด 30% ได้อีกด้วยนะ เพิ่มเติมสำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการวางแผนการเดินทางผ่านรถบัสและรถรางสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์นี้ได้เลย tfl.gov.uk สามารถซื้อบัตรรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปีได้ทั้งนั้นเลย
เมืองที่มีรถราง น้อง ๆ สามารถเช็คได้จากลิงก์นี้เลย https://uktram.org/systems/
เว็บไซต์จองตั๋วยอดนิยม
ข้อดี: ราคาถูก ประหยัด
ข้อเสีย: ไม่เหมาะกับสถานการณ์เร่งรีบ
- รถไฟและรถไฟใต้ดิน (Trains and the Tube)
รถไฟ (บนดิน) และรถไฟใต้ดินของที่นี่มีประวัติมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะที่อังกฤษเป็นประเทศแรกที่สร้างรถไฟใต้ดิน เป็นระยะเวลากว่า 160 ปีแล้ว และเมืองลอนดอนยังเป็นต้นแบบการสร้างรถไฟใต้ดินโลกและเป็นเมืองหนึ่งที่มีระบบขนส่งสาธารณะดีที่สุดในโลกอีกด้วย ค่าเดินทางของรถไฟใต้ดินจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาการเดินทางและเวลาที่เดินทาง มีสถานีให้บริการกว่า 274 สถานี สามารถซื้อบัตรได้ที่เครื่องจำหน่ายบัตร หรือใช้ Oyster card (สำหรับน้อง ๆ ที่อยู่ลอนดอน) หรือบัตรเดบิต/เครดิตของธนาคาร สำหรับรถไฟเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการเดินทางข้ามเมือง หากน้อง ๆ ต้องการวางแผนการเดินทางล่วงหน้า ตัวเลือกนี้ตอบโจทย์แน่นอน เพราะสามารถซื้อบัตรเดินทางล่วงหน้าได้ หากน้อง ๆ เดินทางด้วยรถไฟเป็นประจำ แนะนำให้สมัคร 16 - 25 Railcard จะมีส่วนลดค่าโดยสารกว่า 30% เลย
สำหรับน้อง ๆ ที่สงสัยว่ารถรางและรถไฟต่างกันยังไง รถรางมีลักษณะคล้ายรถไฟแต่จะสั้นกว่าและมีน้ำหนักเบากว่ารถไฟนะ
สำหรับเว็บไซต์จองตั๋วยอดนิยม สามารถจองได้จากลิงก์ด้านล่างนี้เลย https://www.thetrainline.com/
เว็บไซต์รายละเอียด 16 - 25 Railcard https://www.16-25railcard.co.uk/
ข้อดี: ราคาถูก รวดเร็ว ประหยัด
ข้อเสีย: ในสถานการณ์ที่เร่งรีบ อาจมีความแออัด
- รถแท็กซี่ (Taxi)
ตัวเลือกที่ง่ายสำหรับการเดินทางและสะดวกสบาย แต่มาพร้อมกับราคาค่าโดยสายที่ค่อนข้างสูงที่คิดตามมิเตอร์เหมือนบ้านเรา สามารถเรียกใช้บริการได้จากจุดบริการโทรจองล่วงหน้า หรือน้อง ๆ สามารถติดต่อสอบถามกับทางศูนย์ช่วยเหลือของมหาวิทยาลัยเพื่อขอรายชื่อและเบอร์โทรของผู้ให้บริการแท็กซี่ที่เชื่อถือได้ นอกจากนี้ยังมีผู้ให้บริการแท็กซี่รายอื่น ๆ อีก เช่น Uber, Ola, Bolt, Via, Gett และ Taxiapp UK เป็นต้น
ข้อดี: เดินทางสะดวกสบาย เหมาะกับเวลาที่ไม่เร่งรีบ
ข้อเสีย: ค่าเดินทางมีราคาสูง
- รถจักรยาน (Cycling)
ตัวเลือกที่ประหยัดที่สุด แต่มาพร้อมกับหลาย ๆ สิ่งที่ต้องพึงระวัง อย่างการตรวจเช็คสภาพรถจักรยานก่อนออกเดินทาง และการปฏิบัติตามกฎการขับขี่บนท้องถนนอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของตัวน้อง ๆ เอง ทั้งนี้บริเวณรอบ ๆ มหาวิทยาลัยจะมี cycling club หรือ cycle buddy scheme เพื่อให้น้อง ๆ สามารถขับขี่อย่างปลอดภัย ที่เมืองลอนดอนมีให้เช่าจักรยานด้วยนะ มีชื่อว่า โครงการให้เช่าจักรยานบาร์เคลย์ (Barclays Cycle Hire) อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ต้องการใช้รถจักรยานในเวลาเร่งด่วน การชำระเงินสามารถชำระผ่านบัตรเดบิต/เครดิตผ่านเครื่องบริการให้เช่าตามจุดให้บริการ สำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการต่อรถไปยังขนส่งสาธารณะอื่น ๆ การเลือกใช้รถจักรยานให้เช่าก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพราะจุดให้เช่ารถจักรยานในลอนดอนมักจะอยู่ใกล้กับสถานีขนส่งอื่น ๆ อีกด้วย
ข้อดี: ประหยัดที่สุด
ข้อเสีย: ความปลอดภัยต่ำ
3. Plagiarism โหดมาก! จริงมั้ย?
รูปแบบการเรียนในมหาวิทยาลัยที่อังกฤษจะต่างกับที่ไทยมาก ที่อังกฤษจะเน้นการศึกษาด้วยตนเอง (self-study) และการคิดวิเคราะห์ (critical thinking) ที่จะทำให้นักเรียนเกิดองค์ความรู้ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อได้ และอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญเมื่อน้อง ๆ ได้ไปเรียนต่อที่อังกฤษแล้วจะไม่เตรียมตัวเลยไม่ได้คือ การเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หรือการเขียน Essay ที่้น้อง ๆ บางคนอาจเคยได้ยินมาตั้งแต่เริ่มเข้ามหาวิทยาลัย ที่นี่การเขียนเรียงความจะเข้มข้นมากเนื่องจากเป็นประเทศใช้ภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลาย และเมื่อกล่าวถึงเรื่องเขียนเรียงความแล้วการคัดลอกผลงานทางวิชาการ (plagiarism) เป็นสิ่งที่น้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา ไม่ควรทำอย่างเด็ดขาด ไปดูกันว่า การคัดลอกผลงานทางวิชาการ คืออะไร และวิธีที่จะทำให้ไม่เสี่ยงต่อการคัดลอกผลงานสามารทำได้อย่างไรบ้าง
การคัดลอกผลงาน (plagiarism) หรือ การโจรกรรมทางวิชาการ หมายถึงการที่บุคคลหนึ่งนำเนื้อหาหรือผลงานที่สร้างขึ้นโดยผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้แสดงที่มาและต้นฉบับอย่างชัดเจน การคัดลอกผลงานคนอื่นถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และการละเมิดความเป็นเจ้าของของผลงาน นอกจากนี้ การคัดลอกผลงานยังถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่สุจริตและไม่มีความน่าเชื่อถือในวงกว้าง และการกระทำเช่นนี้จะนำมาซึ่งผลเสียแก่ตนเอง ดังนั้น เพื่อป้องการการเข้าข่ายการคัดลอกผลงานของผู้อื่น พี่ BRIT - Ed มีทริคมาฝาก มีอะไรบ้างไปดูกัน
1) สร้างผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร คิดสร้างสรรค์ความคิดที่เป็นของน้อง ๆ เอง
2) อ้างอิงและแสดงที่มาต้นฉบับอย่างชัดเจน
3) ใช้เครื่องมือตรวจสอบความเป็นเจ้าของ เช่น Turnitin, Grammarly และ Copyscape เป็นต้น เพื่อตรวจสอบเนื้อหาของน้อง ๆ มีความเป็นเจ้าของและไม่มีส่วนที่คัดลอกจากผลงานของคนอื่น
4) หากน้อง ๆ ต้องการใช้เนื้อหาหรือผลงานของผู้อื่น เช่น กรณีขออนุญาตใช้งาน หรือในกรณีที่น้อง ๆ ต้องการเผยแพร่ผลงาน น้อง ๆ ควรติดต่อผู้เขียนหรือเจ้าของผลงานเพื่อขออนุญาตหรือตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขการใช้งาน
โดยทั่วไป น้อง ๆ ที่กำลังจะไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยจะมองว่าเรามีประสบการณ์ด้านการอ้างอิงผลงานมาแล้ว การคัดลอกผลงานทางวิชาการจึงไม่เป็นที่ยอมรับ และ หากไม่ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดอาจเสี่ยงต่อโทษทางวินัยอย่างรุนแรง และไม่เป็นผลดีกับการศึกษา
4. การบริการสุขภาพอันดับต้น ๆ ของโลก จริงมั้ย ?
ถ้าพูดถึงประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุด ประเทศอังกฤษก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ติดอันดับต้น ๆ ของโลกเลย ครอบคลุมทั้งประชาชนทั่วไปและนักเรียนต่างชาติ ซึ่งมีชื่อว่าระบบดูแลรักษาสุขภาพแห่งชาติ หรือ NHS (National Health Service) น้อง ๆ นักเรียนไทยที่เดินทางไปเรียนต่อมากกว่า 6 เดือน จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมบริการสุขภาพภายในอังกฤษ หรือ IHS (Immigration Healthcare Surcharge) ตั้งแต่ขั้นตอนการขอวีซ่า พี่ ๆ BRIT - Ed แนะนำให้น้อง ๆ ทุกคนปฏิบัติตามกฎของระบบสาธารณสุขเพื่อรับสวัสดิการและรักษาสิทธิ์ของตนเองในการรักษาพยาบาลระหว่างเรียนต่อ มาดูกันว่าต้องทำอะไรบ้าง
- ลงทะเบียนกับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (General Practitioner; GP)
น้อง ๆ ต้องลงทะเบียนกับ GP ที่อยู่ใกล้ที่พักหรือมหาวิทยาลัยที่เรียน เพื่อให้ได้รับการรักษาทันทีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน น้อง ๆ ที่มีโรคประจำตัวควรลงทะเบียนเพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
ดูวิธีการค้นหาและลงทะเบียนกับ GP สามารถกรอกรหัสไปรษณีย์ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.nhs.uk/service-search/find-a-GP
shorten: https://shorturl.at/yzD34
- ลงทะเบียนทันตกรรม
เช่นเดียวกับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป น้อง ๆ ควรลงทะเบียนกับทันตแพทย์ใกล้ ๆ เพื่อดูแลด้านทันตกรรม ซึ่งบริการด้านทันตกรรมจาก NHS นั้นไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ก็ขึ้นอยู่กับระดับการรักษาที่อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
น้อง ๆ ที่อยู่ในอังกฤษสามารถค้นหาและลงทะเบียนทันตกรรมได้ที่ลิงก์นี้
https://www.nhs.uk/service-search/find-a-dentist/results/E16AN
Shorten: https://shorturl.at/vFU47
เพียงเท่านี้น้อง ๆ ก็สามารถเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขเหมือนกับพลเมืองในประเทศอังกฤษได้แล้ว ก่อนจะบินลัดฟ้าไป ก็อย่าลืมศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมของระบบสาธารณสุขด้วยนะ
5. คนอังกฤษเคร่งวัฒนธรรม จริงมั้ย ?
ในแต่ละประเทศหรือแต่ละเมืองจะมีวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง อังกฤษเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีวัฒนธรรมที่ยาวนาน ดังนั้น จะเป็นการดีมากหากน้อง ๆ ได้ศึกษาวัฒนธรรมของอังกฤษคร่าว ๆ ก่อนที่จะบินไปเรียนต่อ พี่ ๆ BRIT - Ed รวมมาให้แล้วกับวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่น้อง ๆ อาจจะต้องเจอเมื่อไปเรียนอังกฤษ มีอะไรบ้าง ไปดูกัน
- ประเพณีการกินอาหารซันเดย์ โรสต์ (Sunday Roast)
ประเพณีเก่าแก่ของชาวอังกฤษที่มีขึ้นหลังจากการรับศีลในวันอาทิตย์ที่โบสถ์ของศาสนาคริสต์ แต่ในปัจจุบันประเพณีไม่ได้รับความนิยมมากนัก จึงเปลี่ยนเป็นการย่างเนื้อที่บ้านแทนซึ่งจัดขึ้้นในวันอาทิตย์ หรืออาจจะเป็นวันอื่นแทนวันอาทิตย์ก็ได้นะ การย่างเนื้อในประเพณีนี้มีหลายชนิดด้วย แต่หลัก ๆ จะเป็นเนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อแกะ เนื้อหมู หรือเนื้อเป็ด เมื่อมีเมนูหลักแล้วก็ต้องมีเครื่องเคียงที่เสิร์ฟพร้อมกับเนื้อแต่ละอย่าง เช่น ยอร์กไชร์ พุดดิ้ง (Yorkshire pudding) เสิร์ฟพร้อมเนื้อวัว และเครื่องเคียงที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างที่ชาวอังกฤษใช้เป็นส่วนหนึ่งของอาหารหลักนั่นก็คือ ผักต้มและผักอบที่ได้จากการหมักด้วยน้ำมันจากการอบเนื้อ แต่ในปัจจุบันความนิยมของการเสิร์ฟผักกับอาหารหลักได้ลดลงอย่างมากจากอิทธิพลของต่างชาติ
- อาหารเช้าแบบคนอังกฤษ (English Breakfast)
ในสมัยนี้อาหารเช้าแบบคนอังกฤษยังเป็นที่นิยมเหมือนแต่ก่อนและสามารถพบได้ในร้านอาหารในเมืองทั่วไป เพราะเป็นอาหารที่เรียกได้ว่าจัดหนักและจัดเต็มจนเกือบล้นจานกันเลยทีเดียว ทั้งอิ่มท้องและยังได้สารอาหารแบบครบถ้วน ไม่แปลกใจเลยใช่ไหมละที่ยังเป็นที่นิยมกันจนถึงปัจจุบันนี้ โดยภายในจานก็จะประกอบไปด้วยแหล่งโปรตีนอย่าง องุ่น ไข่ ไส้กรอกเนื้อ หรือไส้กรอกเลือด (Black pudding) และเสิร์ฟพร้อมกับขนมปังหรือมันฝรั่งทอด นอกจากนี้ก็ยังมีผักสีสันสดใสเพิ่มความสดชื่นให้กับจานไม่น้อยเลยทีเดียว และส่วนใหญ่ชาวอังกฤษจะรับประทานอาหารเช้านี้พร้อมกับชา หรือกาแฟ เพื่อเป็นการรับวันใหม่แบบพลังเต็มเปี่ยมและอยู่ท้อง น้อง ๆ ที่กำลังจะไปเรียนต่ออังกฤษห้ามพลาดเลยน้า
- วัฒนธรรมการดื่มชา
เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมของประเทศอังกฤษสิ่งแรก ๆ ที่เราจะนึกถึงก็คือ วัฒนธรรมการดื่มชา น้อง ๆ รู้หรือไม่ว่าการดื่มชามีประวัติศาสตร์ยาวนานมาเป็นร้อย ๆ ปี ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 การดื่มชาก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และชายังเป็นเครื่องดื่มอันดับ 2 ที่มีคนดื่มมากที่สุดในโลกอีกด้วย โดยในอังกฤษนิยมดื่มชาตลอดทั้งวันตั้งแต่ตื่นนอน หลังอาหาร เช้า กลางวัน และเย็น หลังอาบน้ำ เวลาว่าง แม้กระทั่งก่อนนอน แต่ว่าจะมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งที่สำคัญสำหรับการดื่มชาในอังกฤษน้อง ๆ น่าจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว นั่นก็คือ “เวลาน้ำชา” หรือ “Afternoon Tea” ประเพณีนี้เริ่มต้นจากชนชั้นสูง เป็นเวลาการดื่มชาในช่วงบ่าย ๆ พร้อมขนมเล็กน้อยเพื่อระบบสุขอนามัยที่ดี เพราะชาวอังกฤษสมัยก่อนจะรับประทานอาหารเพียง 2 มื้อคือ เช้า และเย็น ทำให้ช่วงบ่ายจะรู้สึกหิวมาก การดื่มชาในช่วงบ่ายจึงกลายเป็นธรรมเนียมของชาวอังกฤษ แต่ในสมัยนั้นผู้คนยังไม่สามารถเข้าถึงชาได้เพราะมีราคาสูง แต่เมื่อราคาถูกลงทำให้ความนิยมการดื่มชาแพร่หลายมากขึ้น จะเห็นได้ว่าการดื่มชาของชาวอังกฤษนั้นมีประวัติความเป็นไปเป็นมาที่น่าสนใจมากพูดแล้วก็หิวเลย งั้นเราไปซื้อชาดื่นกัน
- ความตรงต่อเวลา
น้อง ๆ รู้ไหมว่าชาวอังกฤษให้ความสำคัญมาก ๆ กับเรื่องความตรงต่อเวลา การรักษาคำพูด และเรื่องของการแจ้งล่วงหน้าว่าไม่สะดวกหรือไปยังที่นัดสาย หากไม่แจ้งจะเป็นการเสียมารยาทและยังเป็นการไม่ให้ความสำคัญของเวลา น้อง ๆ จึงควรรักษาคำพูดและสื่อสารอย่างชัดเจน เพราะชาวอังกฤษให้ความเคารพต่อภาษา การสื่อสารที่ถูกต้อง และการรักษาคำพูดช่วยให้เกิดความเข้าใจระหว่างบุคคลอย่างราบรื่บและสามารถประสานงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้การไปเยี่ยมบ้านเพื่อนชาวอังกฤษหรือการเข้าร่วมงานดินเนอร์ การนำของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ช็อกโกแลต หรือดอกไม้ มาฝากถือเป็นมารยาทอีกรูปแบบหนึ่ง จากที่กล่าวมานั้นไม่จำเป็นต้องเป็นชาวอังกฤษเลย เพราะทุกคนควรจะตรงต่อเวลาและรักษาคำพูดให้เป็นนิสัย
- การเข้าคิวต่อแถว
การเข้าคิวและรอคิวเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่คนอังกฤษให้ความสำคัญ และเช่นเดียวกัน การแซงคิวถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติกันในสังคมอังกฤษ หากมีความจำเป็นที่จะต้องแซงคิวควรร้องขอจากคนที่อยู่ข้างหน้าทีละคน และเมื่อต้องการไปห้องน้ำขณะเข้าคิวไม่ควรขอให้คนที่อยู่ข้างหลังรอเรากลับมาต่อคิวอีกครั้ง สำหรับการชำระเงินซื้อสินค้าที่ร้านค้า เราควรเดินไปชำระเงินที่แคชเชียร์และรอคิวเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่คนอื่นที่มาก่อนเรา และหากใช้รถเข็นที่ร้านค้าไม่ควรนำรถเข็นเบี่ยงไปด้านข้างคนที่อยู่ด้านหน้าเรา
- มารยาทบนโต๊ะอาหาร
คนอังกฤษมีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่สุภาพมาก ขณะรับประทานอาหารสามารถพูดคุยได้แต่ไม่ควรมีเสียงดัง คนอังกฤษใช้ส้อมและมีดในการรับประทานอาหารแทนการใช้ช้อนและส้อมแบบคนไทย สำหรับการรับประทานอาหารโดยการใช้ส้อม จะใช้มือซ้ายในการถือส้อมและถือมีดในมือขวา (หากถนัดซ้ายสามารถกลับข้างได้) ขณะที่ใช้มีดตัดอาหาร จะถือมีดโดยใช้นิ้วชี้อยู่ข้างบนสันมีดตอนติดด้ามจับ และจะหั่นอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ ด้วยการสไลด์มีด หากมีมีดและส้อม คนอังกฤษจะใช้ส้อมตักอาหารเข้าปากโดยการคว่ำส้อมเท่านั้น ไม่หงายส้อม เพราะถือเป็นการเสียมารยาท เช่นเดียวกับการใช้มีดตักอาหารเข้าปาก บนโต๊ะอาหาร จานของเราจะวางด้านซ้ายบน หากมีมีดและส้อมเรียงกันอยู่มาก ควรหยิบใช้จากแถวนอกก่อน จากจานแรกไปจนจานสุดท้าย สำหรับช้อนส้อมมีดเล็ก ๆ จะวางเหนือจานด้านบนและใช้สำหรับทานของหวาน นอกจากนี้ การวางศอกบนโต๊ะอาหารยังเป็นการเสียมารยาทอีกด้วย เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วควรวางส้อมและมีดไว้ด้านขวาของจาน แต่หากยังทานไม่เสร็จให้วางส้อมแบะมีดไว้บนจานโดยให้ส้อมอยู่เหนือมีด อีกเรื่องหนึ่งคือ เมื่อได้รับเชิญไปรับประทานอาหารค่ำที่บ้านเพื่อนคนอังกฤษ ไม่ควรนั่งลงบนโต๊ะอาหารทันที ควรรอให้เจ้าของบ้านเชิญให้นั่งก่อน แต่ในกรณีที่ได้รับเชิญไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร ผู้เชิญจะเป็นฝ่ายที่จ่ายค่าอาหาร
- มารยาทในที่สาธารณะ
คนอังกฤษมักเคร่งมารยาทในที่สาธารณะมาก อย่างการเดินทางบนรถประจำทาง หรือรถไฟใต้ดิน จะไม่มีการพูดคุยกับผู้โดยสารคนอื่น ๆ และการรับชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ คนอังกฤษจะรับชมการแสดงแบบใจจดใจจ่อ หากมองภายนอกชาวอังกฤษอาจดูไม่ค่อยเป็นมิตร แต่แท้จริงแล้วอังกฤษเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และด้วยเหตุนี้คนอังกฤษส่วนใหญ่จึงเป็นคนใจกว้างที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่เดือดร้อนเสมอ
การแยกขยะในประเทศอังกฤษนั้นสำคัญมากๆ ประเทศอังกฤษจะมีถังขยะในแต่ละสี สำหรับแยกขยายแต่ละประเภทไม่ว่าจะเป็น ขวดแก้ว ถุงพลาสติก เศษอาหาร ขยะอันตราย เป็นต้น ถ้าหากเราทิ้งขยะไม่ถูกประเภทจะถูกคนอังกฤษมองว่าเป็นคนที่ทำลายสภาพแวดล้อมและไร้การศึกษา เพราะฉะนั้นก่อนที่จะทิ้งขยะ น้องๆจะต้องจำแนกให้ถูกด้วยนะครับว่าขยะนี้ต้องทิ้งลงถังสีอะไร
มากไปกว่านั้นคนอังกฤษค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นส่วนตัวมากๆ ถึงแม้จะสนิทกันมากแค่นั้นก็ไม่ควรถามเรื่องส่วนตัวเช่น ครอบครัว เงินเดือน สถานะ ความเห็นทางการเมือง เป็นต้นเพราะจะเป็นการลุกล้ำความเป็นส่วนตัว
และถ้าเราไม่รู้ หรือ ไม่แน่ใจในคำพูดหรือคำถามของคนอังกฤษเราสามารถถามได้เป็นเรื่องปกติไม่ต้องกังวลว่าจะพูดผิดเพราะพวกเขาจะช่วยแก้ไขให้เราเองเพื่อเป็นการพัฒนาต่อในการฝึกพูดตอบโต้กับพวกเขา
แต่ข้อควรระวังคือไม่ควรพูดภาษาอื่นๆหรือภาษาถิ่นของตัวเองเสียงดังในที่สาธารณะถ้าไม่จำเป็นจริงๆเพราะอาจรบกวนผู้อื่นได้และอาจจะเกิดความเข้าใจผิดและไม่พอใจได้เพราะพวกเขาไม่ทราบว่าเราจะสื่อสารว่าอะไร
6. อังกฤษไม่มีสมุดธนาคาร จริงมั้ย?
อาจจะฟังดูเป็นเรื่องแปลก แต่ที่ธนาคารในประเทศอังกฤษนั้นจะไม่มีสมุดธนาคารให้เมื่อเปิดบัญชี แต่ทางธนาคารจะให้เป็น Statement มาให้พวกเราเก็บไว้ Statement นี้จะรายงานความเคลื่อนไหวในบัญชีทั่วไป รายรับรายจ่าย เงินเข้าออกบัญชีของเรา ซึ่งสำหรับน้อง ๆ ที่จะไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษจะต้องใช้ Statement นี้ในตอนที่น้อง ๆ ไปต่อวีซ่า
นอกจากนี้ ประเทศอังกฤษก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ไม่ค่อยนิยมใช้เงินสดในการจับจ่ายกันแล้ว ร้านค้าส่วนมากจะเปลี่ยนมาเป็นระบบการจ่ายเงินไร้สัมผัส (Contactless Payment) รวมไปถึงการจ่ายค่าโดยสารรถบัสที่จะรับเฉพาะบัตรเดบิตหรือเครดิตเท่านั้น ดังนั้น เพื่อความคล่องตัวในการจับจ่ายใช้สอย พี่ ๆ BRIT - Ed ขอแนะนำให้น้อง ๆ ศึกษาวิธีการเปิดบัญชีธนาคารในประเทศอังกฤษ รวมถึงศึกษาประเภทของบัตรเครดิตหรือเดบิตที่สามารถใช้ในต่างประเทศได้ ซึ่งวันนี้พี่ ๆ BRIT - Ed ก็ได้รวบรวมขั้นตอนการเปิดบัญชีธนาคารในประเทศอังกฤษและประเภทบัตรเครดิต - เดบิตมาไว้ตรงนี้แล้ว
เอกสารที่ใช้ในการเปิดบัญชี
- หนังสือเดินทาง (Passport)
- จดหมายรับรองสถานะนักเรียนจากมหาวิทยาลัย
- เอกสารแสดงหลักฐานของที่อยู่ในประเทศอังกฤษ (BRP Card)
- เงินฝากขั้นต่ำ
สิทธิประโยชน์ของแต่ละธนาคาร
- ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม
ขั้นตอนการเปิดบัญชี
- ขอจดหมายรับรองสถานะนักเรียนจากมหาวิทยาลัย
- นัดหมายกับธนาคาร เพื่อยื่นเอกสาร (แนะนำให้เลือกใช้บริการธนาคารที่ตัวน้อง ๆ เดินทางไปทำธุรกรรมสะดวก)
- วันนัดหมายให้นำเอกสารที่จำเป็นทั้งหมดไปที่ธนาคารที่เลือกไว้
- เจ้าหน้าที่จะเสนอบัญชีต่าง ๆ และให้น้อง ๆ เลือกตามความเหมาะสมของตัวเอง และโดยส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะแนะนำให้เปิด 2 บัญชี คือ บัญชีเก็บเงิน (Current Acount) และบัญชีใช้เงินเป็นบัญชีที่มีบัตรเดบิตไว้สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
- ขอรายละเอียดบัญชีธนาคารเพิ่มเติม
นอกเหนือจากการเปิดบัญชีใหม่แล้ว น้อง ๆ ยังสามารถเลือกใช้บัตรเครดิต - เดบิตประเภท Travel Card ของธนาคารในประเทศไทยเอาไว้เผื่อได้ ซึ่งน้อง ๆ ก็สามารถศึกษาเพิ่มเติม เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างแต่ละธนาคารได้เลย
บัตรเครดิต - เดบิตที่แนะนำ
- Planet card ของธนาคารไทยพาณิชย์
- Travel card ของธนาคารกรุงไทย
- Journey card ของธนาคารกสิกรไทย
- ธนาคารอื่น ๆ
ส่วนลดนักเรียนจุก ๆ จริงมั้ย?
อังกฤษเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพค่อนข้างสูง และแน่นอนว่าอังกฤษจะมีส่วนลดสำหรับนักเรียนและนักศึกษา เพื่อไม่ให้น้อง ๆ แบกรับภาระอันหนักอึ้ง วันนี้พี่ ๆ BRIT - Ed มีลิสต์รายการส่วนลดและสิทธิพิเศษเพื่อให้น้อง ๆ ที่กำลังจะไปเรียนต่ออังกฤษเตรียมพร้อมกัน ในส่วนลดที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้มีอะไรบ้างไปดูกันเลย
ส่วนลดจากบัตร
- ISIC (The International Student Identity Card) ค่าบริการ £12 ต่อปี
บัตรนักศึกษานานาชาติที่เป็นที่รู้จักและยอมรับกว่า 130 ประเทศทั่วโลก สามารถใช้เป็นหลักฐานในการแสดงสถานะนักศึกษาได้อีกด้วย แต่สิ่งที่พิเศษกว่านั้นคือน้อง ๆ สามารถใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าอาทิ หนังสือ เสื้อผ้า โรงแรม สายการบิน เป็นต้น บางแห่งมีส่วนลดกว่า 50% เลยนะ บัตรนี้สามารถทำที่ไทยได้ด้วย มีที่กทม. และเชียงใหม่ หรือใครสะดวกสมัครผ่านเว็บไซต์นี้เลยน้า http://www.isic.org
- NUS card (The National Union of Students)
บัตรส่วนลดสำหรับนักเรียนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด บัตรนี้สำหรับน้อง ๆ ที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยในอังกฤษที่ร่วมโครงการ สามารถใช้บัตร NUS card ได้ฟรี และนำไปเป็นส่วนลดตามร้านต่าง ๆ ได้อีกด้วย
- NUS Extra card ค่าบริการ £12 ต่อปี
บัตร NUS แบบพิเศษและเป็นบัตรที่คุ้มสุด ๆ เพราะสามารถประหยัดไปได้ £500 ต่อปีกันเลย
- UNiDAYs
บัตรส่วนลดสำหรับนักเรียนที่ศึกษาต่อใน สหราชอาณาจักร (United Kingdom), ไอร์แลนด์ (Ireland), นิวซีแลนด์ (New Zealand) และออสเตรเลีย (Australia)
ส่วนลดการเดินทาง
- 16-25 Railcard บัตรราคา £30 ต่อปี และ £70 ต่อ 3 ปี ลดค่าตั๋วรถไฟได้กว่า 33%
- 18+ Student Oyster photocard ลดการเดินทางเพียบ
- InterRail Global pass ส่วนลด 15% และสิทธิพิเศษอื่น ๆ สำหรับนักเรียน
- Megabus ส่วนลด 10% สำหรับผู้ถือบัตร NUS Extra
- National Express Young Persons Coachcard รับส่วนลด 15% เมื่อถือบัตร UNiDAYs, Student Beans, Prime Student และ TOTUM
นอกจากจะมีส่วนลดจากบัตรและส่วนลดการเดินทาง ยังมีส่วนลดจากแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดัง หรือการขอ refund และ return สินค้า ภายใน 30-45 วัน แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละร้าน และรวมถึงส่วนลดร้านอาหารอีกด้วย ทั้งนี้ส่วนลดอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อย ๆ ในทุก ๆ ปี
ทำ part-time ได้มากสุด 40 ชม. จริงมั้ย?
การทำงานพาร์ทไทม์ (part-time) เป็นการสร้างประสบการณ์ทำงานรูปแบบหนึ่งที่ไม่สามารถหาได้จากการเรียนสำหรับน้อง ๆ ที่อยากหาประสบการณ์ทำงานก่อนที่จะไปลงสนามจริง เพราะประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญที่นายจ้างจะพิจารณาเป็นส่วนแรกก่อนจะรับเข้าทำงาน การทำพาร์ทไทม์ในอังกฤษมีข้อกำหนดไว้ว่าสามารถทำได้ในนักเรียนที่กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญา หรือสำหรับน้อง ๆ ที่มี Tier 4 Student Visa เท่านั้น น้อง ๆ ที่มาเรียนภาษาไม่สามารถทำงานพาร์ทไทม์ได้น้าา
สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจทำงานพาร์ทไทม์ ตามวีซ่านักเรียนต่างชาติสามารถทำงานพาร์ทไทม์ได้ไม่เกิน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เมื่อเปิดภาคเรียน และไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เมื่อปิดภาคเรียน การทำพาร์ทไทม์มีข้อดียังไงบ้าง ไปดูกัน
1) สร้างรายได้เสริม
เป็นที่แน่นอนว่าการทำพาร์ทไทม์นั้นเป็นการสร้างรายได้เสริมอย่างหนึ่งที่หากน้อง ๆ บริหารเงินเป็นอย่างดีอาจทำรายได้ได้มากเลยทีเดียว
2) บริหารเงินเก็บ
ดังที่พี่ BRIT - Ed กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าที่อังกฤษมีค่าครองชีพสูง ถ้าเปรียบอังกฤษเป็นไทยก็เหมือนกรุงเทพเราเลย แต่อัตราค่าเงินสูงกว่ามาก ทำให้น้อง ๆ ที่ไปเรียนต่ออังกฤษบางคนยังไม่สามารถบริหารเงินเก็บได้ การทำพาร์ทไทม์เลยเป้นตัวช่วยน้อง ๆ เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในภาวะช็อตเงิน
3) พัฒนาทักษะการสื่อสาร
ส่วนใหญ่ของงานพาร์ทไทม์ รูปแบบงานจะเป็นงานที่ได้ติดต่อสื่อสารเป็นส่วนใหญ่ และโดยเฉพาะการทำงานพาร์ทไทม์ที่ต่างประเทศทำให้น้อง ๆ ได้ฝึกการใช้ภาษาในการสื่อสารอย่างแน่นอน
4) บริหารเวลา
การทำงานเสริมระหว่างเรียนนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้เสริม ได้ฝึกการบริหารเงินเก็บและพัฒนาการสื่อสารแล้ว ยังเป็นการฝึกการบริหารเวลาไปในตัวอีกด้วย เพราะนอกจากที่น้อง ๆ ต้องบริหารเวลาในการเรียนแล้ว น้อง ๆ ยังต้องบริหารเวลาในการทำงานเรียกได้ว่าเป็นทักษะหนึ่งที่จำเป็นเมื่อเข้าสู่การทำงานจริง
นี่ก็เป็น 8 ข้อที่น้อง ๆ ควรศึกษาก่อนที่จะบินไปเรียนต่ออังกฤษ เพราะบางข้อน้อง ๆ อาจจะยังไม่คุ้นชิน อย่างสภาพอากาศ หรือ การรับบริการสุขภาพที่มีขั้นตอนและวิธีการที่ซับซ้อน อ่านจบแล้วก็เตรียมแพ็กกระเป๋าเตรียมบินกันได้เลย!
หากมีข้อสงสัยอะไรก็สามารถสอบถามพี่ ๆ BRIT - Ed ได้เลยน้า
You must be logged in to post a comment.